ปัญหาเรื่องหนึ่งที่(อาจจะ)เป็นปัญหากวนใจมากๆ ของเกษตรกรรุ่นใหม่ เชื่อว่าหนึ่งในนั้นคงไม่พ้นปัญหาการเพาะต้นกล้าผัก เพื่อนำไปปลูก หลายๆคนตั้งอกตั้งใจพิถีพิถันในการเลือกวัสดุเพาะ แต่จนแล้วจนรอด เมล็ดผักที่เพาะนั้นก็ไม่เคยงอกให้เราเห็นสักที จนหลายๆท่านอ่อนใจไปตามๆกัน วันนี้เรามาดูวิธีและเทคนิคดีๆของการเพาะกล้าผักแต่ละชนิดกัน 

1. ผักบุ้ง นำเมล็ดแช่น้ำก่อนประมาณ 6 – 12 ชั่วโมง นำเฉพาะเมล็ดที่จมน้ำไปเพาะ ผักบุ้งจะใช้เวลางอกประมาณ 5 – 14 วัน
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอก 18 – 25 องศาเซลเซียส อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 20 – 25 วัน

2. คื่นช่าย นำเมล็ดแช่น้ำประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง แล้วห่อด้วยผ้า หรือใส่กล่องพลาสติกถนอมอาหาร ปิดฝาให้สนิทแล้วนำไปแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วนำมาเพาะตามปกติ จะทำให้ คื่นฉ่ายจะใช้เวลางอกประมาณ 5 – 7 วัน อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกคือ 15 – 20 องศาเซลเซียส

อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 70 – 80 วัน

3. ผักชี นำเมล็ดมาห่อด้วยกระดาษหรือผ้าแล้วใช้ท่อพีวีซี กลิ้งคลึงเมล็ดให้แตกเป็น 2 ซีก แล้วนำไปแช่น้ำอุ่นประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง (หรือจนกว่าเมล็ดจะจม) แล้วนำไปเพาะตามปกติจะทำให้ผักชีงอกได้เร็วขึ้น ปกติผักชีจะใช้เวลางอกประมาณ 5 – 7 วัน

– ผักชีไทย อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 40 – 50 วัน
– ผักชีลาวอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 55 – 60 วัน

4. ผักชีฝรั่ง นำเมล็ดแช่น้ำอุ่นประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง แล้วนำไปเพาะตามปกติ โดยจะใช้เวลางอกประมาณ 5 – 7 วัน

อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 100 – 120 วัน

5. พืชตระกูลแตง ได้แก่ แตงกวา, แตงโม, แคนตาลูป, เมล่อน, แตงไทย, ฟักทอง, น้ำเต้า ฯลฯ นำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่นประมาณ 40 – 50 องศาเซลเซียส โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง หรือจนกว่าเมล็ดจะจมน้ำ จากนั้นให้นำเมล็ดมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหารโดยวางรองด้วยกระดาษชำระพรมน้ำให้ชุ่ม จากนั้นปิดฝาให้สนิท นำไปตากแดดในช่วงเช้าประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง จะทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น โดยปกติจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 4 – 7 วัน เมื่อเมล็ดเริ่มงอกก็นำไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไป

– แตงโมเปลือกลาย, แตงโมเปลือกดำ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 35 – 40 วันหลังจากดอกบาน
– แตงไทย อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 – 55 วันหลังจากหยอดเมล็ด
– แตงกวา อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 6 – 7 วันหลังดอกบาน
– เมล่อน, แคนตาลูป อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 40 – 60 วันหลังผสมเกสร (แล้วแต่ชนิดของสายพันธุ์)

6. พืชกลุ่มพริก, มะเขือ, มะเขือเทศ นำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่นประมาณ 50 องศาเซลเซียส โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง หรือจนกว่าเมล็ดจะจมน้ำ จากนั้นให้นำเมล็ดมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหารโดยวางรองด้วยกระดาษชำระพรมน้ำให้ชุ่ม จากนั้นปิดฝาให้สนิท นำไปตากแดดในช่วงเช้าประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง จะทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น โดยปกติจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 5 – 10 วัน เมื่อเมล็ดเริ่มงอกก็นำไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไป

– มะเขือเทศ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 70 – 80 วันหลังจากหยอดเมล็ด
– พริก อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 – 60 วันหลังจากหยอดเมล็ด
– มะเขือเปราะ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 – 60 วันหลังจากหยอดเมล็ด

7. ปวยเล้ง เป็นพืชที่หลายคนคิดว่าเพาะได้ยาก แต่จริงๆแล้วการเพาะปวยเล้งไม่ยากอย่างที่คิดแต่อาจจะใช้เวลา และเทคนิคยุ่งยากกว่าเมล็ดพืชชนิดอื่น โดยมีขั้นตอนดังนี้

– นำเมล็ดปวยเล้งไปแช่ในน้ำเย็นประมาณ 1 คืน แต่อย่านานกว่านั้นเพราะเมล็ดจะเน่าได้
– นำกล่องพลาสติกถนอมอาหารที่มีฝาปิดมิดชิด รองด้านในด้วยกระดาษชำระประมาณ 2 – 3 ชั้น แล้วพรมน้ำให้พอชุ่มทั่วกระดาษแต่อย่าให้ท่วมกระดาษมากเกินไป ให้เทน้ำที่ค้างออกด้วยนะคะ
– นำเมล็ดปวยเล้งที่แช่น้ำมาแล้วประมาณ 3 – 5 ชั่วโมงมาล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วนำเมล็ดไปโรยลงบนกระดาษชำระในกล่องพลาสติกถนอมอาหารปิดฝาให้สนิทแล้วนำไปแช่ในตู้เย็น (ช่องแช่ปกติ) อุณหภูมิของตู้เย็นปกติจะอยู่ที่ประมาณ 4 – 7 องศา C ซึ่งเป็นอุณหภูมิทีเหมาะต่อการงอกของเมล็ดปวยเล้งอยู่แล้ว
– ประมาณ 7 – 14 วัน ปลายเมล็ดปวยเล้งจะเริ่มแตกออก และมีปลายรากโผล่ออกมาจากเมล็ด จึงสามารถนำเมล็ดที่มีรากงอกออกมานั้นไปเพาะลงวัสดุปลูกได้ค่ะ

อายุเก็บเกี่ยวปวยเล้งประมาณ 35 – 45 วัน (นับจากวันปลูก)

8.ผักสลัดชนิดต่างๆ
เพาะกล้าสลัดโดยใช้กล่องถนอมอาหารที่มีฝาปิดสนิท รองด้านในด้วยกระดาษชำระประมาณ 2 ชั้นแล้วพรมน้ำให้กระดาษเปียก และเทน้ำออก จากนั้นให้นำเมล็ดสลัดมาโรยลงบนกระดาษชำระ โดยไม่ต้องพรมน้ำซ้ำ แล้วปิดฝากล่องให้สนิท (แนะนำให้นำไปวางไว้ในที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น ห้องปรับอากาศ หรือในตู้แช่ผัก) ประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง

เมล็ดจะเริ่มงอกให้ย้ายลงวัสดุปลูกได้เลยค่ะ อย่าปล่อยให้ 72 ชั่วโมง (3 วัน) เพราะรากจะยาวเร็วมากและทำให้ย้ายปลูกได้ยาก การกระตุ้นการงอกด้วยวิธีนี้จะทำให้เมล็ดที่เราเพาะมีเปอร์เซ็นต์การงอกและความสม่ำเสมอของการงอกสูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่จะเข้าทำลายเมล็ดจากการเพาะเมล็ดลงวัสดุปลูกโดยตรง

ให้ผักที่ปลูกมีความสม่ำเสมอของต้นที่เท่ากัน มากกว่าการเพาะลงในวัสดุปลูกโดยตรง เนื่องจากการเพาะลงวัสดุปลูกโดยตรงนั้นเมล็ดสลัดมีความเสี่ยงที่จะถูกทำลายโดยเชื้อโรคหรือแมลง อีกทั้งผู้ปลูกยังควบคุมปัจจัยการงอกของเมล็ดได้ยากกว่าด้วย