การทำเกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) หรือที่เรียกกันติดปากว่า เกษตรกรรมยั่งยืน เริ่มมาเป็นที่คุ้นหู และเป็นที่สนใจเมื่อไม่นานมานี่เอง ส่วนหนึ่งอาจมาจากการตื่นตัวในเรื่องผลกระทบจากภาคการเกษตรในปัจจุบัน ทีตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามีการใช้สารเคมีทางการเกษตรมากขึ้น จนส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนในหลายด้านอย่างเห็นได้ชัด การเกษตรกรรมแบบยั่งยืน หรือ เกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะมาช่วยภาคการเกษตรให้สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัวที่สุด
Permanent + Agriculture = Permaculture
เพอร์มาคัลเจอร์ มีที่มาจากการผสมคำว่า Permanent ที่แปลว่า ‘ถาวร’ กับคำว่า Agriculture ที่แปลว่า ‘เกษตรกรรม’ ซึ่งหมายถึงแนวคิดทางเกษตรกรรมที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยมีวิถีปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดดังกล่าวคิดขึ้นโดยบิลล์ บอร์ริสัน (Bill Morrison) นักนิเวศวิทยา และเดวิด โฮล์ม เกรน (David Holmgren) นักออกแบบสิ่งแวดล้อม ชาวออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสองที่มีความสนใจร่วมกันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับระบบนิเวศทางธรรมชาติ
จากการที่วิถีการเกษตรส่วนใหญ่ในปัจจุบันพยายามที่ จะเอาชนะธรรมชาติผ่านการควบคุมปัจจัยต่างๆ ให้เป็นไปตามใจนึก โดยเชื่อว่าเป็นวิธีการที่จะได้รับผลผลิตที่สูงขึ้น แต่แนวคิดเพอร์มาคัลเจอร์กลับบอกว่า ถ้ามนุษย์สามารถออกแบบระบบการเกษตรให้เป็นไปอย่างที่ธรรมชาติเป็น ระบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติจะนำมาซึ่งผลผลิตที่สูงขึ้น และยังเป็นวิถีปฏิบัติที่ยั่งยืนกว่าวิถีที่พยายามจะควบคุมธรรมชาติอีกด้วย
วิถีเกษตรกรรมแบบ ‘เพอร์มาคัลเจอร์’ จะให้ความสำคัญกับการออกแบบจัดวางพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการออกแบบอาคารบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ให้สัมพันธ์และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ แต่ยังมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ภายใต้วิถีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษ เน้นการพึ่งพาธรรมชาติและพึ่งพาแหล่งพลังงานภายในชุมชน
หลักการพื้นฐาน เกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture)
- ทำงานร่วมกับธรรมชาติ ไม่ใช่ทำลายธรรมชาติหรือฝืนธรรมชาติ
- ปลูกพืชในพื้นที่ให้หลากหลายชนิด ให้เกื้อกูลกันแทนที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว แค่ชนิดเดียว
- ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างพืช น้ำ โครงสร้างต่างๆ แมลง และสัตว์
- เน้นการปลูกพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมาก และเป็นพืชหรือต้นไม้ที่มีอายุยาวนาน
- จัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลกันเพื่อที่จะให้ระบบสามารถดูแลกันเองตามธรรมชาติได้ เช่น การเลี้ยงไก่ไว้กินแมลงรบกวน เลี้ยงเป็ดไว้กินวัชพืช หรือเพื่อช่วยในการพรวนดิน ฯลฯ
- ปลูกพืชหลายชั้นในพื้นที่เดียวกัน นับตั้งแต่พืชหัว ไปจนถึงไม้ยืนต้น ซึ่งการทำสวนแนวตั้งก็สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตในลักษณะของป่าอาหาร (Food forest) ได้
- การแบ่งพื้นที่ใช้สอยตามความบ่อยในการใช้งาน เช่น ปลูกพืช-สมุนไพร ผักสำหรับปรุงอาหารเอาไว้ใกล้ๆบ้าน ส่วนพืชบางชนิดที่ไม่ค่อยได้ใช้สอยหรือนานๆ ใช้สอยที ปลูกไว้ไกลบ้าน
- ระบบกักเก็บน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ เน้นการใช้แรงโน้มถ่วงของโลกให้เป็นประโยชน์ เช่นการขุดคลองไส้ไก่กระจายไปตามพื้นที่เพื่อช่วยให้รักษาความชุ่มชื้นของดินไว้
- ปรับใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานทางเลือกอื่นสำหรับบ้าน และสวน
เพอร์มาคัลเชอร์ เป็นเรื่องของแนวคิด วิธีคิด การออกแบบ เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนที่สุด
นำเรื่องการออกแบบพลังงานในธรรมชาติมาใช้ร่วมกับการทำการเกษตรอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นเกษตรทางเลือกหนึ่งที่มีลูกเล่น มีสีสันที่ไปเชื่อมกับศาสตร์อื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ จึงไม่ใช่แค่เรื่องเกษตร แต่ต้องสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หมั่นค้นคว้าและเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยา จนมองเห็นว่าถ้าเราออกแบบระบบการเกษตรให้เหมือนกับรูปแบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราก็จะได้ระบบการเกษตรที่สอดคล้องและเป็นมิตรกับธรรมชาติ ทั้งยังได้ผลิตผลสูง และมีความยั่งยืนมากกว่าระบบที่เห็นธรรมชาติเป็นศัตรูที่ต้องต่อสู้ เอาชนะ ควบคุมให้ได้อย่างใจเรา
ขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล